Just another WordPress.com site

Archive for พฤศจิกายน 22, 2010

ไม้หรือแร็กเก็ต

อุปกรณ์กีฬาแบดมินตัน
1.  ไม้แร็กเกต ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมาก ซึ่งถ้าเปรียบไม้แร็กเกตก็เปรียบได้กับอาวุธ สำคัญประจำตัวของนักรับในสนามรบเลยทีเดียว  นักรบที่มีความสามารถประกอบกับอาวุธที่ดีย่อมชนะคู่ต่อสู้ได้โดยง่าย   ดังนั้นการเลือกไม้แร็กเกตที่มีคุณภาพดีมีประสิทธิภาพสูงไว้เป็นคู่มือในการฝึกหรือการเล่น จึงเป็นเรื่องที่ผู้เล่นจะต้องศึกษาให้ละเอียดเสียก่อน จึงต้องรู้และเข้าใจถึงคุณภาพของไม้แร็กเกตแต่ละชนิด  ต่อมาได้มีผู้คิดค้นกรรมวิธีการผลิตให้มีคุณภาพดีขึ้น  โดยใช้ก้านเหล็กชุบยึดอยู่ตรงกลางระหว่างเฟรมกับด้ามจับ  ซึ่งไม้แร็กเกตชนิดดังกล่าวมีคุณภาพดีกว่าไม้แร็กเกตที่ผลิตขึ้นเป็นไม้ทั้งอันเพราะมีความแข็งแรงทนทาน และมีสปริงไม่แข็งกระด้าง รูปร่างก็กะทัดรัดมีความสวยงามและมีน้ำหนักเบากว่า  ปัจจุบันซึ่งเป็นยุคทองของความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ไม้แร็กเกตได้มีการพัฒนาให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นมีการปรับปรุงโดยนำเอาวัสดุที่มีน้ำหนักเบา เช่น อะลูมิเนียม คาร์บอน แกรไฟต์ โบรอน เซรามิก และไทเทเนียม เป็นต้น  ซึ่งมีความแข็งแรงคงทน และมีสปริงในการยืดหยุ่นทุก ๆ ส่วน  ไม้แร็กเกตในปัจจุบันที่ได้รับความนิยมจากผู้เล่นมีอยู่ 2  แบบ  ดังนี้
1.1 แบบมีข้อต่อ   ไม้แร็กเกตแบบนี้ขอบเฟรมทั้งหมดจะทำด้วยเหล็ก  จึงมีความแข็งแรงคงทนต่อการกระแทก  ข้อดี คือ สามารถเปลี่ยนหรือซ่อมได้หากมีการหักที่ขอบเฟรม หรือก้านไม้แร็กเกต  เพราะมีข้อต่อเป็นรูปตัว T ยึดระหว่างตัวเฟรมกับก้านไม้แร็กเกตมีคุณภาพในระดับปานกลาง เพราะมีสปริงที่ตัวก้านไม้แร็กเกต แต่มีข้อเสียอยู่บ้างที่มีน้ำหนักมาก  โดยเฉพาะส่วนของหัวไม้แร็กเกตจะทำให้การเคลื่อนไหวของการตีลูกต้องใช้แรงมาก  ซึ่งอาจจะเหมาะสมสำหรับผู้ที่ชอบไม้แร็กเกตที่มีน้ำหนักและเล่นเกมไปในทางตบ แต่ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก ๆ ที่เริ่มฝึกหัด
1.2 แบบไม่มีข้อต่อ     เป็นไม้แร็กเกตที่ผลิตจากวัสดุที่มีขนาดเบาตลอดทั้งอันดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น  จึงมีน้ำหนักเบากว่าและมีความคงทนแข็งแรงมีขนาดกะทัดรัดสวยงาม และมีประสิทธิภาพสูงเพราะมีแรงสปริงจากทุก ๆ ส่วนของไม้แร็กเกต  ซึ่งไม้แร็กเกตแบบนี้จะมีอายุการใช้งานนาน มีข้อเสียอยู่ที่มีราคาค่อนข้างแพงและเมื่อหักตรงส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วไม่สามารถซ่อมเปลี่ยนได้ หรือสามารถซ่อมเปลี่ยนได้ก็มีคุณภาพไม่ดีเท่าเดิมขาดความสมดุลไป  ไม้แร็กเกตนี้ยังแบ่งเป็น 2 แบบ  คือ แบบที่หล่อเฉพาะตัวเฟรมและตัวก้านแต่ด้ามจับยังเป็นไม้อยู่  กับอีกประเภทหนึ่งที่หล่อทั้งอัน กล่าวคือ ทั้งตัวเฟรม ตัวก้านและด้ามจับเป็นวัสดุชิ้นเดียวกันทั้งหมด  ซึ่งทำให้ไม้แร็กเกตชนิดนี้มีความสมดุลตลอดทั้งอัน มีประสิทธิภาพดีมาก จึงได้รับความนิยมจากผู้เล่นทั่วไปมากทั้งที่เริ่มหัดใหม่ ๆ เด็กเล็กหรือผู้ที่เล่นในระดับแข่งขันแล้ว   ไม้แร็กเกตในปัจจุบันตามแบบต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมามีมากมายและหลายบริษัทที่ผลิตขึ้นให้เลือกใช้ มีเกณฑ์ในการเลือกไม้แร็กเกตแบดมินตันดังนี้
       มีน้ำหนักเบา  กล่าวคือ น้ำหนักประมาณ 90-95  กรัม  ซึ่งผู้เลือกใช้สามารถทดสอบดูโดยชั่งน้ำหนักกับตราชั่งตามร้านค้าขายอุปกรณ์เหล่านี้ น้ำหนักของไม้แร็กเกตขนาดนี้คือเกณฑ์ที่ดีทีสุดในการเลือกใช้
        สปริงดี  ส่วนใหญ่จะเป็นไม้แร็กเกตแบบไม่มีข้อต่อ  กล่าวคือ ไม้แร็กเกตแบบนี้สามารถส่งแรงสปริงจากทุก ๆ ส่วนของไม้แร็กเกต  การเลือกดูว่ามีสปริงดีหรือไม่ให้ทดลองยกไม้แร็กเกตขึ้นมาในระดับอกให้ด้านหน้าของไม้แร็กเกตขนานกับพื้น  ใช้มือซ้ายจับตรงด้านบนสุดของขอบเฟรม ส่วนมือขวาให้จับบริเวณด้าม  จับให้หัวแม่มืออยู่ล่างนิ้วทั้งสี่จับเรียงอยู่ด้านบนทั้งหมด  สังเกตดูว่าไม้แร็กเกตที่มีสปริงตัวก้านจะอ่อนโค้งขึ้นมา  เมื่อปล่อยจะคืนตัวกลับมาในแนวเดิมให้ทดลองด้วยวิธีดังกล่าวทั้งสองด้าน  หากมีแรงสปริงเท่า ๆ กันเป็นอันมั่นใจได้ว่าได้ไม้แร็กเกตที่มีสปริงดีแล้ว
       มีกริฟหรือด้ามจับที่เหมาะกับมือ  โดยปกติแล้วขนาดของด้ามจับจะระบุไว้บริเวณระหว่างรอยต่อของตัวก้านกับด้ามจับ  การเลือกขนาดของด้ามจับให้เลือกตามถนัดและเหมาะกับมือ
       มีการกระจายน้ำหนักทุก ๆ ส่วนของไม้แร็กเกตอย่างสมดุล กล่าวคือ ไม่หนักด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ
        สิ่งที่ต้องพิจารณาอีกประการหนึ่งและเป็นสิ่งสำคัญคือ  ความตึงของเอ็นที่ขึงตึงมากยิ่งดี

ในปัจจุบันไม้ชนิดที่มีข้อต่อจะไม่นิยมใช้เพราะเป็นไม่รุ่นเก่าและพัฒนาการของการผลิตไม้ไปค่อนข้างไกลจึงไม่นิยมไม้ชนิดมีข้อต่อขึ้นมา